การขาดแคลนสินค้าในภาวะวิกฤติแต่ละครั้ง
เป็นผลสะท้อนมาจากนโยบายและการบริหารซัพพลายเชนในภาพรวม
โดยมีเป้าหมาย คือ กำไรของกิจการเป็นตัวกำหนด ให้ต้องมีประสิทธิภาพสูงและต้นทุนต่ำ
ผู้ต้องหาของสถานการณ์นี้คงหนีไม่พ้นระบบการทำงานอย่าง JIT(Just-In-Time) ที่เน้นการผลิตให้สินค้าส่งมาทันพอดีกับความต้องการ โดยลดการเก็บสต๊อกส่วนเกินให้มีน้อยที่สุด และให้ความสำคัญกับระบบโลจิสติกส์แทน
หรือการผลิตแบบระบบพูล (Pull System) คือ รอคำสั่ง, มี Pre-order ก่อนแล้วจึงดำเนินการผลิต ทำเฉพาะในสิ่งที่จำเป็นต้องทำ
ด้วยเหตุผลเพราะ การผลิตที่มากเกินไปและการเก็บสต๊อกที่ไม่จำเป็น คือ 2 ใน 7 ความสูญเปล่าของกิจการ(7 Wastes) ซึ่งทั้ง 2 สิ่งนี้จะนำไปสู่ ประสิทธิภาพที่ต่ำ และต้นทุนที่สูงขึ้นทั้งระบบ
เนื่องจากระบบดังกล่าวนำไปสู่ปัญหาสต๊อกที่ไม่เพียงพอเมื่อเกิดภัยพิบัติอย่างปัจจุบัน เพราะ
- ความต้องการสินค้ามากผิดปกติและกะทันหัน
- ความยึดหยุ่นของกิจการในการรับมือกับปัญหาต่ำ
ในสภาวะปกติสถานการณ์ทั้ง 2 นี้เกิดขึ้นได้ ในสิ่งที่ลูกค้ายอมรับได้ที่จะรอ
แต่ในสภาวะวิกฤติสินค้าบางอย่างรอไม่ได้ มีความจำเป็นเร่งด่วนและสำคัญต่อการดำรงชีพ
เมื่อ 9 ปีที่แล้ว เมื่อปี 2554 เราเคยเจอปัญหาลักษณะนี้ ครั้งเกิดซึนามิที่ญี่ปุ่น และช่วงปลายปีเดียวกัน กับปัญหาน้ำท่วมใหญ่ในประเทศไทย ปัญหาจากเหตุการณ์ทั้งสอง
นำไปสู่การกระจายความเสี่ยงของระบบซัพพลายเชน เช่น การเพิ่มคลังสินค้าในภูมิภาคมากยิ่งขึ้น สุราษฯ, ลำปาง, ขอนแก่น แทนการกระจุกตัวอยู่รอบๆ กรุงเทพ
การตั้งโรงงานย่อย ตามต่างจังหวัด เพื่อลดผลกระทบจากความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้
หรือแม้แต่การย้ายฐานการผลิตของบริษัทต่างชาติ ไปยังประเทศต่างๆ เพื่อการกระจายความเสี่ยงจากภัยพิบัติ
แต่ปัญหา Covid-19 แตกต่างกันออกไปแม้ว่าเราจะประเมินความเสี่ยงเรื่องทำเลที่ตั้งไว้แล้ว แต่ครั้งนี้ทำเลไหนก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน ดังนั้นการแก้ปัญหาโดยลดความเสี่ยงเรื่องทำเลที่ตั้งอาจไม่เพียงพออีกต่อไป
ในอนาคตจึงต้องมีการทบทวนกลยุทธ์การบริหารซัพพลายเชนของกิจการ และอาจต้องปรับปริมาณสต๊อกสินค้าให้อยู่ในระดับที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าที่เป็นหัวใจสำคัญของกิจการ โดยเน้นความมั่นคงและความยืดหยุ่นให้สูงขึ้น แม้ว่าต้องแลกกับประสิทธิภาพที่ต่ำลง ต้นทุนที่สูงขึ้นและส่งผลให้กำไรลดลง ก็ตาม
เป้าหมายขององค์กรในอนาคต จึงไม่ใช่แค่ เรื่องของกำไร ต้นทุนและประสิทธิภาพในการตอบสนองความต้องการลูกค้า แต่ความเสี่ยงและความยืดหยุ่น จะเป็นตัวแปรเดิมที่ถูกเพิ่มความสำคัญให้มากขึ้นในอนาคต เพื่อให้องค์กรสามารถตอบสนองกับความเสี่ยง และปรับตัวได้เร็วพอที่จะรับมือกับเหตุการณ์วิกฤตได้ เหตุผลก็เพื่อให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนสำหรับองค์กรในระยะยาว