Lean และ Kaizen กับการเปลี่ยนแปลงในโลกปัจจุบัน
วันนี้ขอพูดถึง Lean และ Kaizen อีกครั้ง ว่าเป็นปรัชญา และแนวคิดอย่างไร และจะดำรงอยู่ต่อไปได้หรือไม่ในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลง รวดเร็วในปัจจุบันนี้
Kaizen ของ มาซาอะคิ อิมาย(Masaaki Imai) ก่อตั้งสถาบัน Kaizen ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1985 นับถึงตอนนี้ก็ 35 ปี ส่วนคุณอิมาย คนคิดนั้นปีนี้ก็อายุ 90 ปีแล้ว
แนวคิดของ Kaizen อยู่มาได้ 35 ปีก็เพราะการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นแนวคิดที่ไม่เคยตกยุค เพราะถ้าคุณตกยุค แสดงว่าคุณไม่ได้เปลี่ยนแปลง และถ้าคุณไม่ได้เปลี่ยนแปลง ก็หมายความว่า คุณไม่ใช่ Kaizen
แนวคิดนี้จึงอยู่ได้ตลอดและใช้ได้คู่กับอนาคตที่มีการเปลี่ยนแปลงไม่ว่าจะเป็นอย่างไร
แต่มุมมองของ Kaizen กับ Continuous Improvement(CI) นั้นมีความแตกต่างกันเล็กน้อยในเรื่องของเวลา เพราะ Kaizen เน้นเสมอว่า Every Day , Every One and Every Where คือ ถ้าจะ Kaizen ก็ต้องเปลี่ยนแปลงทุกวัน ดีขึ้นทุกวัน ในทุกที่และทุกคนในองค์กร
ในขณะที่ CI นั้น ความหมาย คือ คุณต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง อย่าหยุด อาจจะดีขึ้นทุกเดือน ทุกปี ก็ได้ เช่น ปีนี้เราดีกว่าปีที่แล้ว และปีหน้าเราจะดีกว่านี้ อย่างนี้เรียก Continuous Improvement แต่ไม่ใช่ Kaizen
ดังนั้นหากเราจะใช้แนวคิด Kaizen ในการบริหารกิจการ เราต้องทำให้ดีขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องและควรเห็นการเปลี่ยนแปลงภายใน 72 ชั่วโมง ไม่ใช่เป็นเดือน หรือเป็นปี ถ้าจะให้ดีก็เปลี่ยนตั้งแต่พรุ่งนี้เลย
และสิ่งที่ต้องปรับปรุง เปลี่ยนแปลงนั้น ก็ต้องตรงกับเป้าหมาย ในสิ่งที่ลูกค้าและองค์กรต้องการ
————————–
สำหรับ ลีน (Lean) เกิดมาตอนปีค.ศ.1990 หลังจาก Kaizen 5 ปีจากหนังสือชื่อ “The Machine That Changed The World” ของ ดร.เจมส์ วอแม็ก(James P. Womack) แห่ง MIT (Massachusetts Institute of Technology) เพื่ออธิบายความสำเร็จของระบบ Toyota ว่าทำไมถึงทำได้สำเร็จและเติบโต แล้วสรุปว่าเพราะ Toyota เป็น Lean
โดยแนวคิด Lean นั้นแพร่หลายอย่างมากในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา โดยแนวคิดของ Lean นั้นคือ
การสร้างคุณค่าสูงสุดให้กับลูกค้า(Maximize customer value)โดยมีความสูญเปล่าต่ำที่สุด(Minimizing Waste) โดยสามารถประยุกต์ใช้ได้ในทุกองค์กรที่มีเป้าหมายและกระบวนการ
ดังนั้นแนวคิดนี้จะคงอยู่ต่อไปตราบเท่าที่ กิจการต้องตอบสนองความต้องการของลูกค้าสูงสุด ในขณะที่ต้องรักษาต้นทุนกิจการให้ต่ำที่สุด ส่วนวิธีการนั้นก็ปรับเปลี่ยนและเปลี่ยนแปลงเอาตามยุคสมัย ถ้าทำไม่ได้ก็แสดงว่าองค์กรยังไม่ Lean
นอกจากนี้แล้วแนวคิด Lean ไม่ใช่แค่การลดความสูญเปล่า(Waste) อย่างที่เข้าใจ แต่ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองอยู่ตลอดเวลาเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป และการตอบสนองนั้นต้องทำให้ง่าย เร็ว มีคุณภาพ ถูกต้องแม่นยำ และต้นทุนต่ำ
จะเห็นว่าทั้ง 2 แนวคิด ทั้ง Lean และ Kaizen เป็นปรัชญาที่ดำรงอยู่ได้ เพราะไม่หยุดนิ่ง จะได้ผลหรือไม่ก็อยู่ที่การนำไปใช้ให้เหมาะสมตามยุคสมัย เพื่อความได้เปรียบและเติบโตของกิจการ
และสิ่งสำคัญคือ เมื่อปัจจัยแวดล้อมเปลี่ยน ระบบเปลี่ยน องค์กรก็ต้องปรับเปลี่ยนให้ทันกับสถานการณ์ เพื่อที่จะรักษาความสามารถในการตอบสนองคุณค่าของลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการใช้ต้นทุนและทรัพยากรที่คุ้มค่าที่สุด
ความต้องการไม่เคยคงเดิม กิจการไม่ควรหยุดนิ่ง
You can be the next SMEs book
ความได้เปรียบไม่เคยถาวร กิจการต้องพัฒนา
ธวัชชัย บัววัฒน์
27/8/2563