ซัพพลายเชนเพื่อเศรษฐกิจหมุนเวียน
ในขณะที่ธุรกิจส่วนใหญ่ยังคงมองการขับเคลื่อนไปข้างหน้าแบบเป็นเส้นตรง(Linear Economy) คือ เริ่มจากต้นน้ำ(วัตถุดิบ) กลางน้ำ(ผลิต) และปลายน้ำ(ผู้บริโภค) ตลอดทั้งกระบวนการของซัพพลายเชน และจบกระบวนการที่ผู้บริโภคทิ้งแล้วจบกัน แล้วมาเริ่มการจัดซื้อวัตถุดิบใหม่ ผลิตใหม่ และขายใหม่
เมื่อยิ่งบริโภคมากก็ผลิตมาก ยิ่งผลิตมากก็ใช้ทรัพยากรและวัตถุดิบจำนวนมาก
โดยที่กิจการมุ่งเน้นไปที่ ความมีประสิทธิภาพสูงสุดของกระบวนการ และศักยภาพในการแข่งขัน กำไรและความพึงพอใจของลูกค้า
แต่ความเป็นจริงวงจรของสินค้า ไม่ได้จบแค่การบริโภค ยิ่งบริโภคมากขึ้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีสิ่งที่ตกค้างและเหลือทิ้งจำนวนมากเช่นกัน ดังนั้นผลลัพธ์ที่ตามมาจากการที่สินค้าไม่ได้ไหลเป็นเส้นตรง แต่ต้องย้อนกลับมาสู่จุดเริ่มต้นไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง หากจัดการได้ไม่ดี ก็กลับมาที่จุดเริ่มต้นผ่านทางสังคม และสิ่งแวดล้อมที่มีปัญหาจากปริมาณขยะและของเสียที่เหลือทิ้งจากการบริโภค
ดังนั้นการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน(Circular Economy)ถูกมองว่าเป็นทางออกที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาและส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยการลดใช้ทรัพยากร ลดการปล่อยของเสียและการใช้พพลังงานที่สิ้นเปลือง โดยมุ่งหวังเพื่อลดผลกระทบเชิงลบไม่ให้ส่งต่อไปยังคนรุ่นต่อไป แต่ยังคงมีการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างมั่นคงและยั่งยืน

Supply Chain for Circular Economy
ด้วยความร่วมมือที่แข็งแกร่งตลอดทั้งซัพพลายเชน จะมีความสำคัญอย่างมากในการปรับปรุงประสิทธิภาพและนำไปสู่ความยั่งยืนร่วมกันได้ เพราะการจัดการซัพพลายเชน(Supply Chain Management :SCM) หรือ ห่วงโซ่อุปทาน เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในกิจการ เป็นผู้ประสานทุกส่วนเข้าไว้ด้วยกัน ทั้งการตลาด การขาย การวิจัยและพัฒนา การผลิต โลจิสติกส์ ไอที การเงินและการบริการลูกค้า ทั้งภายในองค์กรและระหว่างองค์กร
แต่เป้าหมายไม่ใช้เพียงเพื่อปรับปรุงประสิทธิผลการทำงานและสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันและเพื่อลูกค้าเท่านั้น กิจการควรกำหนดเป้าหมายร่วมกัน ในการพาองค์กรให้เกิดการสร้างกำไรอย่างยั่งยืนด้วยการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมควบคู่ด้วยกัน
โดยการมองเป็นระบบซัพพลายเชนที่หมุนเวียน ตั้งแต่ต้นทางของวัตถุดิบ ระหว่างการผลิต การจัดส่งและการขาย กิจการต้องมุ่งเน้นการออกแบบ เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรที่คุ้มค่า ลดการสูญเสียที่ไม่จำเป็น เปลี่ยนมาใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีกระบวนย้อนกลับที่เหมาะสม ลดการปล่อยของเสีย ตลอดทั้งกระบวนการ รวมไปถึงสิ่งสำคัญก็คือ จะทำอย่างไรกับผลิตภัณฑ์ที่ลูกค้าใช้เสร็จแล้ว และต้องทิ้งเป็นขยะ
ที่ต้องเป็นแบบนี้เพราะทุกอย่างไหลเวียนกันเป็นระบบ ไม่ได้เป็นเส้นตรงอย่างที่เข้าใจ แต่เป็นเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่ต้นทางมีผลต่อปลายทาง และปลายทางก็มีผลย้อนกลับมาสู่ต้นทาง ความรับผิดชอบขององค์กรจึงไม่ได้จบที่ขายสินค้า แต่เป็นการรับผิดชอบทั้งระบบ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและความยั่งยืนอย่างแท้จริง
ธวัชชัย บัววัฒน์
Tawatchai Buawat
19/1/2564