ทำไมการจัดการซัพพลายเชนขององค์กรจึงล้มเหลว ?
การจัดการซัพพลายเชน หรือ การจัดการโซ่อุปทาน (Supply Chain Manangement) มีหน้าที่ในการตอบสนองกับความต้องการของลูกค้าให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งกระบวนการตั้งแต่จุดเริ่มต้นของสินค้า หรือ บริการ
เป้าหมายคือการตอบสนองลูกค้า
เช่น การจัดการซัพพลายเชนของเบียร์ เริ่มต้นจากเข้าใจปริมาณและความต้องการของลูกค้า ว่าวันไหน เวลาไหน ตอนไหน ลูกค้ามีความต้องการเปลี่ยนแปลงมากน้อยอย่างไร #Demand จากนั้นจึงนำไปสู่การออกแบบ วางแผน การขนส่ง การกระจาย การผลิตเบียร์ การซื้อขวด กล่อง การใช้น้ำ การใช้คน วัตถุดิบ และทรัพยากร ทั้งหมดหลักจากความต้องการเรียกรวมกันว่าซัพพลาย #SupplyChain ตั้งแต่ต้นจนจบ เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของคนบริโภคเบียร์ได้อย่างดีที่สุด #ทำเพื่อลูกค้า
ดีที่สุดก็หมายถึง คนอยากกินเบียร์ต้องได้กิน(Demand) ส่วนคนขายเบียร์ ผลิตเบียร์ ส่งเบียร์ หรือทั้งหมดในฝั่งซัพพลาย มีต้นทุนในการจัดการต่ำที่สุด แต่สามารถตอบสนองคนกินเบียร์ได้ตลอดเวลา
นอกจากต้นทุนจะต่ำแล้ว ความยืดหยุ่น ก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะความไม่แน่นอนของลูกค้าเกิดขึ้นตลอดเวลา รวมถึงแผนการต่างๆ ที่วางไว้ก็ไม่ 100% ดังนั้น การจัดการซัพพลายเชนที่ดี #ต้องยืดหยุ่นสูงและต้นทุนต่ำด้วย
แต่ต้นทุนที่ต่ำและความยืดหยุ่นที่สูง ไม่ได้เกิดขึ้นชั่วคราว คนจัดการซัพพลายเชน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำให้สิ่งนี้เกิดขึ้นแบบถาวร หรือเรียกว่า #มั่นคงสม่ำเสมอ ไม่ใช่ ได้บ้างไม่ได้บ้าง ดีบ้างไม่ดีบ้าง จะทำให้ความเชื่อใจในซัพพลายเชนต่ำ พอเชื่อใจต่ำจะทำให้ลูกค้าอยากไปใช้ที่อื่น
ดังนั้น ประสิทธิภาพที่สูงในการตอบสนองความต้องการของลูกค้า
ด้วยต้นทุนต่ำ ยืดหยุ่นสูง ความมั่นคงและมีความเชื่อถือได้สูง
จึงเป็นพื้นฐานของการจัดการซัพพลายเชน

คำถามคือ จะทำอย่างนั้นได้อย่างไร (How to win) ให้ได้เป้าหมายนี้
การจะจัดการสิ่งนี้ได้จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือ กันทั้งหมดในซัพพลายเชน ซึ่งการจะควบคุมซัพพลายเชนได้ทั้งหมด อย่างเบ็ดเสร็จ สิ่งที่กิจการอยากจะทำให้สำเร็จ ก็คือ “ผูกขาดซัพพลายเชน” ในการตอบสนองความต้องการของลูกค้า ถ้ากิจการไหนสามารถประสานงานกันได้อย่างราบรื่น ควบคุมได้อย่างเบ็ดเสร็จ ตั้งแต่ต้นจนจบ จัดการแบบไร้รอยต่อ
จะทำให้ผู้นั้นมีความได้เปรียบในการแข่งขันที่สูงในซัพพลายเชน
เพราะปัญหาหลักของซัพพลายเชน ที่ทำให้องค์ส่วนใหญ่ #ล้มเหลวในการบรรลุเป้าหมาย ก็คือ รอยต่อระหว่างหน่วยงาน ระหว่างแผนก ที่ไม่ราบรื่นและติดขัด ต่างคนต่างมีเป้าหมายของหน่วยงาน หรือบริษัทตัวเองเป็นสำคัญ ทำให้ความเป็นหนึ่งเดียวในซัพพลายเชนมีปัญหา นำไปสู่ความล้มเหลวในการตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้
ดังนั้นทุกคนในซัพพลายเชนต้องมีเป้าหมายเดียวกัน ร่วมมือกัน แลกเปลี่ยนและพัฒนาไปด้วยกัน ต้องเป็นพันธมิตรกัน #ถ้าความร่วมมือล้มเหลวซัพพลายเชนก็ล้มเหลว
.
ปัญหาการจัดการวัคซีนในปัจจุบัน สะท้อนให้เราเห็น ความสำคัญของการจัดการซัพพลายเชนได้เป็นอย่างดี ว่าล้มเหลวหรือมีประสิทธิภาพ ในการจัดการระหว่างความต้องการฉีด(Demand) และปริมาณวัคซีน(Supply) ที่จะเป็นต้องอาศัยการจัดการ #ทั้งโซ่อุปทาน ตั้งแต่ต้นทาง โรงงานต้นทางของวัคซีน ปริมาณ การจัดเก็บ การขนส่ง การกระจาย และกระบวนการจัดการวัคซีน จนถึงผู้ที่ต้องฉีด
ซัพพลายเชนล้มเหลวองค์กรก็ล้มเหลวตาม
ธวัชชัย บัววัฒน์
22/4/2564