
10 กลยุทธ์หลักการจัดการซัพพลายเชน
- เพิ่มประสิทธิภาพการสื่อสาร ซึ่งหมายถึงการ การสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพตลอดทั้งซัพพลายเชน ไม่ใช่เฉพาะในหน่วยงานของตัวเอง ข้อมูลต้องอัพเดตและทันต่อสถานการณ์และเกิดการวางแผนและแก้ไขปัญหาร่วมกัน
- เพื่อประสิทธิภาพในการตอบสนองความต้องการลูกค้า (ด้วยการไหลอย่างมีประสิทธิภาพ) การตอบสนองลูกค้าเพื่อความพึงพอใจ คือ เป้าหมายสำคัญของทั้งซัพพลายเชน ดังนั้นต้องทำให้การตอบสนองมีประสิทธิภาพ ตรงตามความต้องการ เวลา และคุณค่าที่ลูกค้าต้องการ
- ลดจำนวนซัพพลายเออร์ (แต่ใช้วิธีการสร้างความสัมพันธ์และประโยชน์ร่วมกันระยะยาว) เน้นการพัฒนาร่วมกันกับซัพพลายเออร์ ไม่เน้นจำนวนที่มาก แต่เน้นคุณภาพที่มุ่งสร้างผลประโยชน์ร่วมกันในระยะยาว
- สร้างความได้เปรียบในซัพพลายเชนของตัวเอง การแข่งขันไม่ใช่เฉพาะองค์กรใดองค์กรหนึ่งแข่งกัน แต่ต้องเป็นความแข่งแกร่งและร่วมมือกันตลอดทั้งซัพพลายเชนเพื่อให้เกิดความได้เปรียบในการแข่งขัน
- ใช้ Outsourcing ใช้บริการจากภายนอกในงานที่ไม่จำเป็น เพราะในบางกิจกรรมสามารถให้ผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกเข้ามาช่วยสร้างความได้เปรียบในองค์กรได้ และบางครั้งยังช่วยลดปัญหาในการจัดการ และ Fixed cost ที่เกิดขึ้นในกิจกรรมนั้นได้ ทำให้กิจการมีความเสี่ยงที่ลดลงจากความผันผวนและการเปลี่ยนแปลงในอนาคต
- ใช้ Postponement ในการผลิตและการส่งมอบให้ลูกค้า กรณีนี้ หมายถึงการเลื่อนกระบวนการออกไปให้สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของลูกค้าได้มากที่สุด เช่น ผลิตภัณฑ์เหมือนเดิม แต่รอเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ที่แตกต่างกันของลูกค้าแต่ละราย หรือ สินค้ารออยู่ในคลังสินค้าก่อนค่อยกระจายไปยังสาขา เมื่อมีคำสั่งซื้อจากลูกค้าที่แน่นอนไม่ต้องไปสต๊อกสินค้าไว้ที่สาขาจำนวนมาก
- ใช้การขนส่งแบบ Cross-Docking (ลดเวลาการเก็บสินค้าไว้ในคลัง) หมายถึง การลดการเก็บสินค้าไว้ในคลังสินค้า แต่ใช้คลังสินค้าเป็นเพียงจุดกระจายสินค้าไปยังลูกค้าแต่ละราย จำนวนที่เข้าเท่ากับจำนวนที่ออกตามความต้องการของลูกค้า
- ใช้การขนส่งแบบ Direct (ส่งถี่ ส่งตรง ส่งน้อย) การส่งสินค้าในระยะทางไกลอาจไม่คุ้มกับการขนส่ง แต่ในระยะทางใกล้ๆ การส่งโดยตรงไปหาลูกค้าเป็นสิ่งที่ช่วยตอบสนองความต้องการลูกค้าได้มากยิ่งขึ้น โดยใช้วิธีการส่งที่บ่อยขึ้น และส่งในจำนวนที่น้อยตามความต้องการของลูกค้า ไม่ต้องรอออเดอร์ขนาดใหญ่ถึงส่ง เพื่อเป็นการลดการรอคอยและการจัดเก็บสต๊อกในปริมาณที่มาก
- ลดจำนวนสต๊อกสินค้าทั้งซัพพลายเชน (ด้วยการวิเคราะห์สต๊อกร่วมกัน/ Just-in-Time) การบริหารซัพพลายเชนไม่ใช่การบริหารเฉพาะในองค์กรตัวเอง แต่ต้องทำพร้อมกันทั้งระบบ เพราะถ้าทำเฉพาะจุดใดจุดหนึ่ง เช่นทำเฉพาะองค์กรเราเองอย่างเดียว อาจเป็นการผลักภาระสต๊อกสินค้าไปยังซัพพลายเออร์ หรือ ผู้แทนจำหน่ายสินค้าได้ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น ภาพรวมของสต๊อกสินค้าทั้งซัพพลายเชนก็ไม่ได้ลดลงเพียงแต่ถูกผลักภาระไปที่อื่นแทน ดังนั้นกิจการควรต้องบริหารสต๊อกตลอดทั้งซัพพลายเชน
- ใช้ระบบดึง(Pull) มากกว่าการผลัก (Push) (สร้างให้เกิดสมดุลในกิจการระหว่างความมีประสิทธิภาพและความสามารถในการตอบสนอง) กิจการในอดีตเน้นการผลิตแบบผลัก คือ เน้นผลิตให้มากเพื่อให้ต้นทุนต่อหน่วยต่ำ เก็บไว้เป็นสต๊อกและผลักดันสินค้าไปยังลูกค้าเพื่อให้เกิดการขาย แต่การทำเช่นนั้นก่อให้เกิดความเสี่ยง คือ สต๊อกที่เกินความต้องการ การจัดเก็บ ต้นทุนและความเสียหาย ส่วนการผลิตแบบดึง คือ เน้นการผลิตตามความต้องการของลูกค้า แต่ทำให้เร็วที่สุด ทำเฉพาะสิ่งที่ลูกค้าต้องการ เพื่อให้มีความสูญเปล่าในกระบวนการที่น้อย สต๊อกต่ำ แต่อย่างไรก็ตามการผลิตทั้งแบบดึงและผลัก มีข้อดีและข้อเสียที่กิจการต้องทำให้เกิดสมดุลระหว่าความสามารถในการตอบสนองลูกค้า และ ความมีประสิทธิภาพของการทำงาน
จะเห็นได้ว่ากลยุทธ์ทั้งหมดเน้นการ ลดความสูญเปล่า เพิ่มความรวดเร็ว และส่งเสริมการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ ก็เพื่อที่จะสร้างความสามารถในการตอบสนองความต้องการของลูกค้า ในขณะที่ยังคงสามารถสร้างความได้เปรียบในเรื่องของต้นทุนที่ต่ำได้
ธวัชชัย บัววัฒน์
21/10/2563