หลักในการสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลง มีด้วยกัน 3 ประการ คือ
1. สร้างให้เกิดความกังวล #ความกลัวในปัจจุบัน
2. สร้างให้เห็นภาพที่ชัดเจนในเป้าหมาย #อนาคตที่ดีกว่า และ
3. สร้างให้เกิดเส้นทางไปสู่อนาคตที่ดี และเป็นไปได้ #มั่นใจในเส้นทาง เพื่อให้กล้าที่จะก้าวออกจากจุดเดิม
การกำหนดวิสัยทัศน์และสร้างแผนกลยุทธ์ถือว่าเป็นเรื่องที่ยากและสำคัญในการกำหนดทิศทางและวิธีการในการบรรลุเป้าหมายที่ต้องการ แต่สิ่งที่ยากและท้าทายกว่านั้นก็คือ การแปลงกลยุทธ์ให้กลายเป็นแผนที่จะนำไปสู่การปฏิบัติ เพื่อให้เกิดผลลัพธ์อย่างที่ต้องการอย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง ดังนั้นการมีขั้นตอน หรือวิธีการที่ถูกต้องในการเปลี่ยนแผนในกระดาษ ออกมาเป็นแผนในการปฏบัติจึงเป็นเรื่องสำคัญ
โดยขั้นตอนทั้ง 8 ใน 3 ระยะ จะช่วยให้การเปลี่ยนแปลงเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ คือ :
<ระยะที่หนึ่ง> สร้างบรรยากาศการเปลี่ยนแปลง
(Create Climate for Change )
<ระยะที่สอง> เริ่มการเปลี่ยนแปลงทั่วทั้งองค์กร
(Engage and Enable whole Organization)
<ระยะที่สาม> สร้างการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงและรักษาไว้ให้ยั่งยืน
(Implement and Sustain Change)
โดย 8 ขั้นตอนมีดังนี้
<ระยะที่หนึ่ง> สร้างบรรยากาศการเปลี่ยนแปลง(Create Climate for Change )
- ขั้นที่ 1: สร้างความรู้สึกถึงความเร่งด่วนในการเปลี่ยนแปลง (Establishing a greater sense of urgency)
- สร้างความตระหนักถึงแรงกดดันที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งระยะสั้นและระยะยาว
- สร้างการรับรู้ถึงความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลง จากข้อมูลที่เกิดกับองค์กร
- สร้างความเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและกำลังจะเกิดกับองค์กรกับผู้มีส่วนได้เสีย(Stakeholders)
- เปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา สร้างความมั่นใจในความสำเร็จของการเปลี่ยนแปลง
- บอกถึงสิ่งที่ต้องการเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้สำเร็จ ขอรับการสนับสนุนจากผู้ที่เกี่ยวข้อง
- ขั้นที่ 2: สร้างทีมนำและส่งเสริมการเปลี่ยนแปลง (Creating the Guiding Coalition)
- ผู้นำองค์กรให้ความสำคัญและมีส่วนร่วมในการนำทีมเพื่อการเปลี่ยนแปลง
- สร้างสมาชิกทีมที่มาจากหน่วยงานและหน้าที่การงานระดับต่าง ๆ ทั่วทั้งองค์กร
- แต่งตั้งทีมงาน มอบหมายหน้าที่และความรับผิดชอบ
- รายงานและวิเคราะห์ความเสี่ยง ปัญหาอุปสรรคที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลง
- ประชุมทีมและวัดผลการปฏิบัติงานอย่างบ่อยครั้งและสม่ำเสมอ
- หน้าที่หลักของทีมประสานความร่วมมือเพื่อการเปลี่ยนแปลง คือการสร้างความรู้สึกที่ได้สร้างไว้ในขั้นตอนที่หนึ่ง ให้เพิ่มพูนขึ้นอย่างต่อเนื่อง
- ขั้นที่3 : พัฒนาวิสัยทัศน์และกลยุทธ์ที่ชัดเจน (Developing a vision and strategy)
- กำหนดคุณค่าหลัก (core value) ซึ่งเป็นแก่นกลางของการเปลี่ยนแปลง
- กำหนดวิสัยทัศน์(Vision) ขององค์กร และพันธกิจ(Mission)
- กำหนดกลยุทธ์(Strategy)ที่จะนำมาใช้ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตามวิสัยทัศน์
- สร้างความเข้าใจ เหตุผล และความมุ่งหมายของวิสัยทัศน์ ให้กับผู้นำการเปลี่ยนแปลงและทีมประสานความร่วมมือเพื่อให้มั่นใจว่าทุกคนเข้าใจวิสัยทัศน์ได้อย่างถูกต้อง สามารถนำไปอธิบายเพื่อให้เข้าใจความมุ่งหวังตามวิสัยทัศน์ได้อย่างง่ายและชัดเจน
<ระยะที่สอง> เริ่มการเปลี่ยนแปลงทั่วทั้งองค์กร(Engage and Enable whole Organization)
- ขั้นที่4 : สื่อสารวิสัยทัศน์ของการเปลี่ยนแปลง ให้เกิดความเข้าใจและมีส่วนร่วม (Communicating the change vision)
- ใช้วิธีย้ำเตือนวิสัยทัศน์มากกว่าการประกาศอย่างยิ่งใหญ่เพียงครั้งเดียว
- สร้างทีมอาสาสมัครที่ช่วยสร้างแรงสนับสนุนวิสัยทัศน์
- สื่อสารประโยชน์ที่ทุกฝ่ายจะได้รับจากวิสัยทัศน์ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างสม่ำเสมอ
- รับทราบความวิตกกังวลของพนักงานและอธิบายให้เข้าใจในสิ่งที่ถูกต้อง
- นำวิสัยทัศน์ไปใช้กับภารกิจประจำเพื่อเป็นตัวอย่างในการปฏิบัติ การตัดสินใจ
- ขั้นที่ 5: ให้อำนาจในการจัดการปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการเปลี่ยนแปลง (Empowering Employees for Broad-Based Action)
- เปิดรับฟังปัญหาอุปสรรคและอุปสรรคของพนักงานกับการเปลี่ยนแปลง
- จัดลำดับสำคัญของประเด็นปัญหาและแยกแยะสาเหตุและสร้างความเข้าใจมุมมองของพนักงาน นำไปสู่การแก้ไขปัญหาให้พร้อมกับการเปลี่ยนแปลง
- ทบทวนโครงสร้างองค์กร ระบบปฏิบัติการ และระบการบริหาร ความรู้ความสามารถของพนักงาน เพื่อให้มั่นใจว่าทุกอย่างไปในทิศทางและสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ที่มุ่งหวัง
- ส่งเสริมพนักงานหรือทีมงานที่สนับสนุนการเปลี่ยนแปลง
- ขั้นที่ 6: สร้างความสำเร็จให้กับเป้าหมายระยะสั้น (Generating Short-Term Wins)
- แบ่งเป้าหมายระยะยาวออกเป็นเป้าหมายระยะสั้นในแต่ละช่วงเวลา
- จัดลำดับโครงการของเป้าหมายระยะสั้นให้มีความสัมพันธ์ต่อเนื่องไปสู่ความสำเร็จระยะยาว
- สื่อสารความสำเร็จที่ทำได้ในระยะสั้น อย่างต่อเนื่อง และให้รางวัลเพื่อเป็นกำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติ
- กระตุ้นให้เกิดความพยายามที่จะทำเป้าหมายต่อไปให้สำเร็จ
<ระยะที่สาม> สร้างการเปลี่ยนแปลงและรักษาไว้ให้ยั่งยืน (Implement and Sustain Change)
- ขั้นที่ 7: ต่อยอดความสำเร็จและการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น (Consolidating Gaines and Producing more Change)
- วิเคราะห์ผลที่เกิดขึ้นจากความสำเร็จหรือล้มเหลวทุกครั้ง (เรียนรู้)
- กำหนดเป้าหมายลำดับต่อไปให้มีความท้าทายต่อความสำเร็จที่เพิ่มขึ้น
- ประยุกต์ใช้ความสำเร็จไปสู่เป้าหมายที่ใหญ่ขึ้น
- ติดตามและให้การสนับสนุนทีมงานสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
- ช่วงเวลาคับขัน ต้องประเมินให้ถี่ขึ้น ควบคุมให้มากขึ้น
- นำข้อมูลป้อนกลับ (feedback) ที่ได้รับจากผู้มีประโยชน์ได้เสียทั้งหลายทั้งภายในและภายนอกองค์กรมาทบทวนเป้าหมายและทิศทางการดำเนินงาน :
- ขั้นที่ 8: สร้างการเปลี่ยนแปลงให้เป็นวัฒนธรรมองค์กร (Institutionalizing changes in the culture)
- ปลูกฝังค่านิยม ความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงในการบรรลุเป้าหมายองค์กร
- สื่อสารและส่งเสริมกิจกรรมที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทั่วทั้งองค์กร
- สร้างเป้าหมายใหม่ เพื่อผลการปฏิบัติงานที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
- พัฒนาทักษะความเป็นผู้นำ ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเพื่อความสำเร็จของวิสัยทัศน์หรือเป้าหมายระยะยาว
ธวัชชัย บัววัฒน์